หลักการบันทึกแผ่น MD
ขอแชร์บทความที่เขียนขึ้นมาจากการอ่านและศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ และหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนสมาชิกที่เล่น MD
หลักการบันทึกแผ่น MD ในอดีตหลายสิบปีที่ผ่านมา การบันทึกข้อมูลนั้นใช้เพียงสนามแม่เหล็กเท่านั้น ไม่ใช่การรวมกันของความร้อนและสนามแม่เหล็ก
ทว่าวิธีการบันทึกแม่เหล็กแบบง่าย ๆ มีข้อเสียอย่างหนึ่งคือ ไม่ปลอดภัย แม่เหล็กหรือสนามแม่เหล็กใด ๆ จากภายนอกจะสามารถลบข้อมูลที่บันทึกไว้ได้ซึ่งอาจเกิดโดยบังเอิญ การใช้อุณหภูมิเฉพาะซึ่งอยู่นอกช่วงอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมปกติและสนามแม่เหล็กร่วมกันจะส่งผลให้การบันทึกมีความเสถียรมาก แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเลยในระยะเวลาหลายสิบปี เนื่องจากหากข้อมูลจะถูกลบหรือเขียนทับได้นั้นต้องการสภาวะที่จำเพาะเท่านั้น
การบันทึกข้อมูลลงบนแผ่น MD อาศัยการปรับสนามแม่เหล็กโดยการบันทึกจะดำเนินการในคราวเดียว แสงเลเซอร์จะยิงไปที่ด้านหนึ่งของแผ่น MD เพื่อทำให้ชั้นแม่เหล็กร้อนขึ้นจนถึงอุณหภูมิที่ถูกต้อง และอีกด้านหนึ่งของแผ่น MD หัวแม่เหล็กจะทำหน้าที่กำหนดขั้วที่ถูกต้อง ณ จุดนี้ควรจำไว้ว่าข้อมูลที่เขียนบนแผ่นดิสก์นั้นเป็นข้อมูลดิจิทัล กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มีเพียงสองสถานะ คือ 1 หรือ 0 (ข้อมูลแม่เหล็กก็คือ ขั้วเหนือ ขั้วใต้ นั่นเอง) การบันทึกและการบันทึกซ้ำทำโดยการเขียนทับข้อมูลก่อนหน้า ไม่ใช่การลบก่อนบันทึก หัวแม่เหล็กของเครื่องเล่น MD นั้นได้รับการพัฒนามาอย่างพิเศษเพื่อให้สามารถพลิกกลับฟลักซ์ได้อย่างรวดเร็วมาก (ประมาณ 100 นาโนวินาที). ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าการบันทึกนั้นแม่นยำ
Note: การบันทึกบนแผ่น MD อาศัยหลักการทางฟิสิกส์ที่รู้จักกันดีนั่นคือ เมื่อทำให้โลหะหรือโลหะผสม (อัลลอยด์) ร้อนถึงอุณหภูมิที่กำหนด เรียกว่า จุดคูรี (Curie point) และได้รับอิทธิพลจากสนามแม่เหล็กภายนอก จะทำให้เราสามารถเปลี่ยนทิศทางแม่เหล็กของอนุภาคของโลหะผสมได้ สารที่ใช้เพื่อจุดประสงค์นี้คือโลหะผสมเทอร์เบียม-เฟอร์ไรต์-โคบอลต์ ซึ่งมีคุณสมบัติที่เหมาะสมมากกับแผ่น MD • อัลลอยด์ terbium–ferrite–cobalt
- มีจุด Curie ที่ค่อนข้างต่ำประมาณ 185 °C ทำให้เลเซอร์ทำความร้อนได้อย่างรวดเร็วโดยใช้พลังงานเพียงเล็กน้อย
- มีแรงบีบบังคับต่ำประมาณ 80 Oersted (6.4 kA m–1) ทำให้สามารถกลับขั้วได้อย่างเสถียรด้วยสนามแม่เหล็กที่ค่อนข้างอ่อน ทำให้ใช้พลังงานต่ำในการใส่สนามแม่เหล็กจากภายนอกลงบนวัสดุ
source: J. Maes, M. Vercammen. Digital Audio Technology: A Guide to CD, MiniDisc, SACD, DVD(A), MP3 and DAT, Fourth Edition (2001).